วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

เทคนิคการถ่ายภาพพลุ

เทคนิคการถ่ายภาพพลุนั้น ไม่ว่าใช้กล้องอะไรก็เหมือนๆ กัน จะมีที่ต่างกันบ้างก็เพียงลักษณะการทำงานของตัวกล้องเอง กล้องดิจิทัลจะมีข้อจำกัดมากกว่ากล้องที่ใช้ฟิล์มในบางประการ อันได้แก่ ตัวเลขเอฟที่แคบที่สุดจะน้อยกว่า เช่นอาจมีแค่ f/8 หรือ f/11 เท่านั้นขณะที่กล้องใช้ฟิล์มส่วนใหญ่จะอยู่ที่ f/16 หรือ f/22 อีกประการหนึ่งคือกล้องดิจิทัลระดับคอนซูมเมอร์ (consumer) หรือ โปรซูมเมอร์(prosumer)ส่วนใหญ่มักจะไม่มีความเร็วชัตเตอร์ B มาให้ ดังนั้นการถ่ายภาพพลุให้ได้ดีค่อนข้างยากกว่าพอสมควร

หลักการถ่ายภาพพลุ การถ่ายภาพพลุก็มีหลักเหมือนการถ่ายภาพทั่วไป คือ
ตัวรับแสงควรได้รับแสงในปริมาณที่พอเพียงแต่เนื่องจากพลุมักจุดในเวลาค่ำคืนดังนั้น ความเร็วชัตเตอร์จึงมีความสำคัญน้อยมาก สิ่งที่ควบคุมความสว่างหรือมืดของภาพอยู่ที่เอฟนัมเบอร์เป็นหลัก ระยะเวลาในการเปิดปิดชัตเตอร์นั้นมีผลต่อจำนวนพลุที่จะปรากฏในภาพ หากใช้เวลาน้อยๆ ก็ได้จำนวนน้อย หากใช้เวลานานก็ได้จำนวนมาก อย่างไรก็ดีถ้านานเกินไป ภาพพลุก็จะซ้อนกันจนเกิดเป็นภาพ over ได้ และเนื่องจากต้องถ่ายภาพในเวลากลางคืนขาตั้งกล้องมีความสำคัญเป็นอย่างมาก กล้องควรยึดอยู่บนขาตั้งกล้องที่มีความแข็งแรงเพียงพอ การเลือกเอฟนัมเบอร์ เอฟนัมเบอร์ที่เหมาะสมขึ้นกับปัจจัยหลายประการคือ

1. ความสว่างของพลุ พลุแต่ละลูกมีความสว่างแตกต่างกัน พลุที่สว่างมากก็ต้องเปิดหน้ากล้องให้แคบกว่าพลุที่สว่างน้อย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงเป็นไปได้น้อยมาก เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าพลุลูกไหนจะสว่างมากหรือน้อย ทั้งนี้เราไม่ต้องกังวลมากนักกับความสว่างของพลุที่ต่างกัน เพราะพลุเป็นแต่แสงสี ที่เคลื่อนที่ ไม่มีโทน(tone) ไม่มีรายละเอียด ดังนั้นเพียงแต่เลือกเอฟนัมเบอร์ที่พอบันทึกภาพให้เห็นสีที่ไม่มืดหรือสว่างจนเป็นสีขาวก็ถือว่าเป็นภาพที่ดีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระหว่าง f8-f16

2. ความไวแสงของ CCD หรือ ISO speed หากเราตั้งความไวแสงของกล้องให้มีค่ามากเช่น 200 หรือ 400 ก็จะทำให้ต้องใช้หน้ากล้องแคบลง แต่เนื่องจากจะมี noise เกิดขึ้นบนภาพ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงความไวแสงสูงๆ และควรตั้งค่าต่ำที่สุดที่กล้องมีให้ เช่นที่ 100 หรือ 50 เป็นต้น

3 ระยะทาง หากกล้องอยู่ห่างจากพลุมาก ก็ควรเปิดหน้ากล้องให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ inverse square law หรือ กฏผกผันกำลังสอง กล่าวคือหากระยะทางจากแหล่งกำเนิดแสงอยู่ห่างไปจากเดิมหนึ่งเท่า ปริมาณแสงจะลดลงสองเท่า นั่นคือหากเราถ่ายภาพพลุด้วยระยะห่าง 100 เมตรด้วย f/11 แต่ถ้าอยู่ห่างออกไป สองร้อยเมตร ควรใช้ f/8 การเลือกชัตเตอร์สปีด ควรใช้ชัตเตอร์ B แต่ถ้ากล้องที่ใช้ไม่มีให้ก็ควรใช้ความเร็ว ประมาณ 2-8 วินาที ขึ้นกับว่า ช่วงเวลานั้นๆ พลุถูกจุดด้วยความถี่มากหรือน้อย

เทคนิคการถ่ายภาพ สำหรับกล้องที่มีชัตเตอร์ B ก็ควรพกกระดาษแข็งสีดำไปด้วย แล้วใช้เปิดปิดหน้ากล้องเพื่อเลือกบันทึกแสงจากพลุลูกใดลูกหนึ่งหรือหลายๆ ลูกไปในเฟรมเดียวกัน หากต้องการภาพพลุเพียงลูกใดลูกหนึ่ง ควรสังเกตจุดที่เป็นบริเวณที่วางพลุ หากเห็นแสงหรือควันไฟพุ่งออกมาแสดงว่า พลุได้ถูกจุดแล้ว ซึ่งเราต้องรีบดึงกระดาษดำออกเพื่อบันทึกภาพ พอหมดแสงพลุลูกนั้นก็ต้องรีบปิดกระดาษ หรือ ปิดชัตเตอร์ กรณีนี้ใช้ได้เฉพาะเมื่ออยู่ในทำเลที่ดีมากๆ และพลุไม่ถูกจุดพร้อมๆ กัน เท่านั้น

ภาพนี้เป็นภาพที่ผมถ่ายงานแสดงพลุในประเทศญี่ปุ่น อันที่จริงแล้วภาพพลุอย่างเดียวเป็นภาพที่น่าสนใจน้อยกว่า ภาพพลุที่มีแสงจากอาคารบ้านเรือน ประกอบอยู่ในภาพด้วย ภาพแสงไฟจากตึกสวยๆ สะพานโค้ง และอื่นๆ จะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วหลังพระอาทิตย์ตกดินไม่นานนัก ท้องฟ้ายังมีแสง สนธยาลางๆ ให้เห็นก็จะยิ่งสร้างบรรยากาศให้น่าดู น่าชม
ที่มาจาก:เว็บไซด์สนุกไฮเทค

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ผมสวยด้วยสมุนไพร

การสร้างเสน่ห์ให้กับตนเองด้วยการดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นสิ่งที่ทุกคนทำเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ เพราะของดีราคาถูกนั้น มักจะไม่ค่อยพบได้ง่ายนัก และแทบจะหาตัวอย่างไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แป้ง ยาสีฟัน ยาสระผม ครีมนวดผม ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาด เราควรมีข้อคิด และควรจะดูให้ดี เพราะผลิตภัณฑ์นั้นอาจจะหมดอายุ หรือมีคุณภาพไม่ดี อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

การดูแลความสะอาดของเส้นผมก็เช่นเดียวกัน เราควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ดูลักษณะ สี กลิ่น ส่วนประกอบ จนกระทั่งวันเดือนปีที่ผลิต ผู้ผลิต ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะมาดูแลเส้นผมซึ่งได้แก่ ยาสระผม ครีมนวดผม น้ำมันแต่งผม หรืออื่นๆ จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ ถ้าเราเลือกของที่คุณภาพไม่ดี นอกจากจะทำให้สุขภาพเส้นผมเสียแล้ว บางครั้งก็เป็นอันตรายต่อหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า บางคนอาจจะมีอาการแพ้เป็นเม็ดผื่นขึ้นตามบริเวณศีรษะ และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านั้นแล้ว การรักษาก็มักจะต้องยุ่งยาก ใช้เวลา เสียทั้งงาน เสียทั้งเงิน เสียบุคลิก และทำให้เราขาดความมั่นใจได้
ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างประเทศ ต่างก็สนใจ และหันกลับมาศึกษาธรรมชาติมากขึ้น ทั้งด้านอาหาร ยา เครื่องใช้ต่างๆ ว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น เขาใช้อะไรในการดูแลเส้นผม เพราะคนในสมัยโบราณคงไม่มีโรงงานผลิตแชมพู หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามเช่นปัจจุบัน แต่เขาก็สามารถดูแลสุขภาพผม ผิวหน้ากันมาได้ และค่อนข้างดีไม่มีภาวะอื่นแทรกซ้อนอย่างเช่นปัจจุบัน

การศึกษาค้นคว้า และหันกลับไปสนใจการใช้ชีวิตประจำวัน ของคนสมัยโบราณตามหนังสือ ตำรา คัมภีร์เก่าๆ ที่มีการบันทึกไว้ ตลอดจนการซักถามจากบรรพบุรุษ หมอพื้นบ้าน ถึงการดูแลเส้นผมสมัยนั้น เขาก็นำเอาพืชสมุนไพรที่มีอยู่ใกล้ตัวมาทำเป็นยาสระผม เพื่อให้ผมสะอาดปราศจากรังแค ทำให้ผมดำ รักษาโรคของหนังศีรษะ เช่น ชันนะตุ การรักษาเหาในเด็ก ส่วนใหญ่นำสมุนไพรที่หาง่ายในท้องถิ่นมาใช้ทั้งนั้น

นั่นก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ทำให้เราหันกลับมาศึกษา และสนใจสมุนไพรในการดูแลรักษาเส้นผมอีกครั้งหนึ่ง อีกประการหนึ่งอันตรายจากสารเคมีที่มีผสมอยู่ในยาสระผม หรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ มีรังแค และที่สำคัญมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแข่งขันกันด้านการตลาด การโฆษณามีบริษัทที่เป็นคู่แข่งมากมาย บริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็พยายามที่จะนำเอาสมุนไพร ที่เป็นสารธรรมชาติมาผสมในผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยในการเพิ่มรายได้ เพิ่มความสนใจของประชาชนในยุคปัจจุบัน

สมุนไพรที่มีคนโบราณนำมาใช้ในการดูแลเส้นผม และหนังศีรษะนั้น เป็นสมุนไพรใกล้ตัวปลูกไว้ริมรั้วบ้าน หาได้ง่าย นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น มะกรูด อัญชัน ว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เป็นต้น สมุนไพรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพผม และหนังศีรษะส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายมีอยู่ทั่วไป

ที่มา : ข่าวสารการแพทย์แผนไทย